Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

ยินดีต้อนรับสู่เว็ปไซต์  องค์การบริหารส่วนตำบลหนองธง  แหล่งท่องเทียวชุมชน ประทับใจทั้งคนและธรรมชาติ                 Nong Thong Subdistrict Administrative Organization          
สถิติผู้เข้าชมตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2557
ผลิตภัณฑ์ตำบล
เห็ด
โพสต์เมื่อ : 22 ตุลาคม 2557

ผลจากเห็ดหลินจือที่มีสรรพคุณทางยาค่อนข้างสูง ทำให้มีการนำมาเป็นตัวยาในการบำบัดโรคและบำรุงร่างกายได้สารพัด โดยเฉพาะคนจีนโบราณเชื่อว่าเห็ดหลินจือเป็นสมุนไพรทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง มีความจำที่ดี ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งหรือแม้กระทั่งยังช่วยชะลอความแก่ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่มีความต้องการในตลาดสูงและยังสามารถขายได้ราคาดีเมื่อเทียบกับเห็ดชนิดอื่นๆ

               หนูแดง จันทร์เต็ม ประธานกลุ่มเพาะเห็ดวิสาหกิจชุมชนบ้านเขาจันทร์ ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเพาะเห็ดหลินจือ ว่าเดิมมีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพเสริมหลังจากทำสวนยาง แต่ต้องประสบปัญหาไข้หวัดนกระบาดเมื่อปี 2545 สูญเงินไปกว่า 5 แสนบาท จนต้องเลิกเลี้ยงไก่ไข่ จากนั้น ส.ป.ก.ได้เข้ามาให้คำแนะนำการเพาะเห็ดจึงใช้โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่มาปรับปรุงให้เป็นโรงเพาะเห็ด เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านที่ประสบปัญหาเดียวกัน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเงินกองทุนในการจัดการซื้อปัจจัยการผลิตรายละ 20,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์ต่อปี เพื่อให้นำมาลงทุนในการทำโรงเรือนเพาะเห็ดและก้อนเชื้อต่างๆ

               "ช่วงแรกยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากชาวบ้านยังไม่มีความรู้และความเข้าใจในขั้นตอนและวิธีการเพาะเห็ด จนศึกษาและพัฒนาด้วยตนเองมาเรื่อยๆ และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้นำชุมชน เมื่อชาวบ้านเริ่มพัฒนาตนเองจนเข้มแข็งจึงได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นเมื่อปี 2542"

               ประธานกลุ่มเพาะเห็ดเผยต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 20 คน มีอาชีพการเพาะเห็ดชนิดต่างๆ แต่จะเน้นหนักไปที่เห็ดหลินจือ เนื่องจากสามารถขายได้ดี เป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบกับเห็ดหลินจือมีราคาสูง ทำให้ชาวบ้านมีขวัญและกำลังใจที่จะเพาะเห็ดหลินจือเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง

               สำหรับการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเงินทุนส่วนหนึ่งจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดในพื้นที่บ้านของสมาชิกแต่ละรายเริ่มแรกปลูกเห็ดนางฟ้าภูฏาน, เห็ดนางโรมฮังการี และเห็ดโคนญี่ปุ่น ผลตอบรับจากการเพาะเห็ดดังกล่าวประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง แต่การเพาะเห็ดดังกล่าวกลับไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

               ต่อมากลุ่มได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาการบริหารงานของกลุ่มเพาะเห็ดหลินจือในพื้นที่อื่นจากการสนับสนุนของกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดพัทลุง ได้เห็นวิธีการจัดการ การบริหารงานกลุ่ม ทำให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความสนใจการเพาะเห็ดหลินจือเนื่องจากเห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่ตลาดมีความต้องการจำนวนมากและมีราคาสูง

               "ความน่าสนใจของเห็ดหลินจือ คือ เป็นเห็ดที่ขายได้ราคาดี ขณะเดียวกันตลาดยังมีความต้องการสูง ด้วยสรรพคุณทางยาของเห็ดและคุณค่าทางโภชนาการสูง ถึงแม้จะมีราคาสูงผู้บริโภคพร้อมจ่ายได้ โดยสรรพคุณของเห็ดหลินจือที่ทราบกันโดยทั่วไปคือ สามารถแก้โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภูมิแพ้ ไขมันในเส้นเลือด สายตาดีขึ้น และยังช่วยให้หน้าใสอีกด้วย" 

               หนูแดงย้ำด้วยว่า ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มจะซื้อเชื้อเห็ดมาทำก้อนเอง การเพาะเห็ดหลินจือ 1 โรงเรือน บรรจุได้ 4,000 ก้อน  สามารถผลิตได้ 2 ครั้งต่อปี โดยแต่ละก้อนออกผลผลิตได้ถึง 3 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 แต่ละก้อนสามารถออกดอกสดได้ 4 ดอกต่อขีด หรือดอกละ 25 บาท รุ่นที่ 2 ออกดอกสด 6 ดอกต่อขีด หรือดอกละ 15 บาท และรุ่นที่ 3 ออกดอก 10 ดอกต่อขีด หรือตกดอกละ 10 บาท และดอกแห้งราคา 200 บาทต่อขีด กิโลกรัมละ 2,000 บาท

               "การทำก้อนไม่มีเทคนิคอะไรพิเศษ แต่จะเน้นที่การดูแลรักษา การจัดการในโรงเรือน แต่เนื่องจากขณะนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นได้เพียงปีกว่า แม้จะสามารถผลิตเห็ดหลินจือป้อนตลาดได้บางส่วน แต่ยังประสบปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาคุณภาพของเห็ด โดยเฉพาะการป้องกันการเกิดเชื้อรา เนื่องจากเห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่ไม่ชอบน้ำ การจัดการในโรงเรือนต้องระมัดระวังและดูแลเรื่องฝนเป็นพิเศษ ไม่ให้มีน้ำขังอยู่ที่พื้น รวมทั้งการโดนแสงแดดด้วย"

               แม้การเพาะเห็ดของกลุ่มจะแยกกันผลิต แต่กลุ่มก็ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ปัจจุบันกลุ่มที่มีเงินออมสามารถหยิบยืมกันได้โดยไม่มีดอกเบี้ย นอกจากกลุ่มจะเน้นการเพาะเห็ดหลินจือเป็นหลักแล้ว ยังมีการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ หมุนเวียนกันไปด้วย ฉะนั้นการรวมกลุ่มเพื่อเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริมจะสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้สมาชิกในกลุ่ม แต่ทุกคนก็ยังต้องพัฒนาและหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

ผลิตภัณฑ์ตำบล อื่น ๆ